วิธีรับเงินเยียวยาน้ำท่วม ลงทะเบียนที่ไหน ใช้เอกสารอะไรบ้างเช็คที่นี่

น้ำท่วม สร้างความเสียหายไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ข้าวของ หรือทรัพย์สินต่าง ๆ หากเป็นผู้ประสบภัยที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อยากได้เงินเยียวยาน้ำท่วม เพื่อนำไปซ่อมแซมบ้าน หรือชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามไปดูกันว่าต้องทำยังไงบ้าง

วิธีลงทะเบียนและเอกสารที่ต้องใช้

สามารถยื่นขอรับเงินเยียวยาช่วยเหลือสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้ 2 ช่องทางคือ ผ่านทางเว็บไซต์ของ ปภ. https://flood67.disaster.go.th/Dashboard/BoardHelpRegister หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล โดยนำเอกสารไปยื่นในวันและเวลาราชการเท่านั้น ประกอบด้วย

  • บัตรประจำตัวประชาชน

พร้อมด้วยหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ 

  • สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียน)
  • สัญญาเช่าบ้านหรือหนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรณีเป็นบ้านเช่า)
  • หากเป็นกรณีอื่น อาทิ บ้านพักอาศัยประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน จะต้องให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น รวมกับผู้นำชุมชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงนามร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน 3

ทั้งนี้ หากทำบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สูญหายหรือชำรุด สามารถไปที่สำนักทะเบียนในเขตพื้นที่เพื่อขอทำเอกสารฉบับใหม่ได้ โดยจะได้รับการยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่มีประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และกรณีมีเหตุจำเป็นให้ขยายระยะเวลาได้อีก 15 วัน รวมเป็น 30 วัน

เงื่อนไขการรับเงินเยียวยาน้ำท่วม

เงื่อนไขการรับเงินเยียวยาน้ำท่วม

สามารถแจ้งขอรับเงินเยียวยาน้ำท่วมได้ ทั้งในกรณีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงผลกระทบจากการระบายน้ำจนส่งผลให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ โดยเจ้าหน้าที่พิจารณาจ่ายให้กับผู้ที่เข้าเงื่อนไข ดังนี้

  1. ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ (ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30) และจะต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย รวมถึงจะต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร
  2. กรณีที่ประสบภัยหลายครั้งจะได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว

ซึ่งได้รับการประกาศแล้วใน 57 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่, กาญจนบุรี, กาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, ขอนแก่น, จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชัยภูมิ, ชลบุรี, เชียงราย, เชียงใหม่, ตรัง, ตราด, ตาก, นนทบุรี, นครนายก, นครปฐม, นครพนม, นครสวรรค์, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, น่าน, บึงกาฬ, ปราจีนบุรี, พระนครศรีอยุธยา, พังงา, พะเยา, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, แพร่, ภูเก็ต, มหาสารคาม, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยะลา, ระยอง, ราชบุรี, ร้อยเอ็ด, ลำปาง, ลำพูน, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สตูล, สระแก้ว, สระบุรี, สุโขทัย, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อ่างทอง, อุทัยธานี, อุดรธานี, อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี

เงินเยียวยาน้ำท่วม ได้อะไรบ้าง

กรณีบ้านน้ำท่วม

ล่าสุด ครม. ได้พิจารณาเห็นชอบให้ปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือน้ำท่วม ในอัตราเดียวกันทั้งหมดที่ครัวเรือนละ 9,000 บาท

สำหรับบ้านที่เคยได้รับเงินไปแล้วหลังละ 5,000 บาท จะมีการจ่ายเงินเพิ่มให้อีก แต่ยอดเงินรวมกันจะไม่เกิน 9,000 บาท

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณ จะเป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย โดยการโอนเงินเข้าบัญชีผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ [ดูวิธีผูกพร้อมเพย์ธนาคารต่าง ๆ ได้ที่นี่]

สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และต้องการรับเงินเยียวยาน้ำท่วม เช็กเงื่อนไขและเตรียมเอกสารให้พร้อม แล้วนำไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประกาศให้เป็นเขตประสบภัยนะคะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *