เบี้ยผู้สูงอายุ ประจำปี 2569 เปิดลงทะเบียนรอบใหม่แล้ว โดยผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี แต่ยังไม่เคยได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่กำลังจะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน สามารถไปลงทะเบียนได้แล้ว
คุณสมบัติ ผู้ที่มีสิทธิลงทะเบียนรับ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
1. สัญชาติไทย
2. มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเป็นผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 ก.ย. 2509
3. ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่
– ผู้รับเงินบํานาญ เบี้ยหวัด บํานาญพิเศษหรือ เงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
– ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
– ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจํา หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจํา
ได้รับเงินเท่าไหร่
ปัจจุบันการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นแบบขั้นไดตามช่วงอายุ คือ
– อายุ 60 – 69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท
– อายุ 70 – 79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 700 บาท
– อายุ 80 – 89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 800 บาท
– อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท
การคำนวณอายุของผู้สูงอายุรายเดิม จะคำนวณตามปีงบประมาณ
(การเลื่อนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายเดิมแบบขั้นบันไดจะเลื่อนตามปีงบประมาณ ไม่มีการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในระหว่างปีงบประมาณ)
ลงทะเบียนรับเบี้ยผู้สูงอายุ เมื่อไหร่?
– กรณีมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เคยลงทะเบียน
ลงทะเบียนได้ตั้งแต่ เดือน ต.ค.-พ.ย. 67 และเดือน ม.ค.– ก.ย. 68 จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือน ต.ค. 68 เป็นต้นไป (ไม่มีจ่ายย้อนหลัง)
– กรณีจะอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ 2569 (เกิดก่อนวันที่ 2 ก.ย. 2509)
ลงทะเบียนเพื่อยืนยันสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ ตั้งแต่เดือน ต.ค.-พ.ย. 2567 และเดือน ม.ค.– ก.ย. 2568
โดยจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือนถัดไปจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เช่น เกิดเดือน ม.ค. จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในเดือน ก.พ. เป็นเดือนแรก
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนได้ โดยเตรียมเอกสารหลักฐานให้พร้อม
เอกสารที่ต้องเตรียมลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
– บัตรประจําตัวประชาชน หรือ บัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ ที่มีรูปถ่าย
– ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ที่เป็นปัจจุบัน)
– สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ในนามผู้มีสิทธิ/ผู้ได้รับมอบอํานาจ จากผู้มีสิทธิ (สําหรับกรณีประสงค์ รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร)
*กรณีผู้สูงอายุไม่สามารถลงทะเบียนด้วยตนเองได้ สามารถมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทนได้
ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่ไหน
– สำนักงานเขต
– องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้สูงอายุมีภูมิลำเนา
หากผู้สูงอายุมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ทางหน่วยงานที่ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ โดยในกรุงเทพมหานครสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเขตส่วนต่างจังหวัดสอบถามได้ที่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลในท้องถิ่น หรือติดต่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เบอร์ 02-2419000 ต่อ 4131